ว่าด้วยเรื่อง "เช็งเม้ง"
กับประเด็นรอยต่อของเจนเนอเรชั่น
เสียงประทัดดังกึกก้อง กัมปนาท กระแทกโสตประสาทไปจนถึงแกนสมอง...
เทศกาลเช็งเม้ง หรือ 清明节 (Qīng Míng Jié) ของครอบครัวสามีในวันนี้พี่ๆ น้องๆ มากันไม่เยอะมากก็จริง แต่ก็ทำให้พวกเราได้นั่งคุยได้สนุกสนานและค่อนข้างทั่วถึง ท่ามกลางอากาศร้อนระดับนรกชั้นต้น conversation ที่เกิดขึ้นไม่ต้องวิเคราะห์ก็รู้ได้ว่าเป็นบทสนทนาในกลุ่มพี่น้องที่เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่...มาก (พูดให้เพราะไว้ก่อน เกรงใจพี่ๆ เค้า) ด้วยวัยและ.. Blue Label สีอำพันนุ่มละมุนคอ..😅 พวกเราจึงเริ่มอยากจะรู้ว่า...
"ทำไมต้องจัดเช็งเม้งในเดือนที่ร้อนที่สุด...วะ?"
"ใครกำหนดว่าเช็งเม้งต้องวันที่เท่านี้...ถึงวันที่เท่านั้น..?"
"เปลือกหอยนี่มัน signify อะไรอะ?"
"อิสรภาพทางความคิด กับกาลเทศะ มันไม่เหมือนกัน เด็กสมัยนี้ไม่ใช่ไม่เข้าใจ แต่เข้าใจผิดหมด"
ไปจนถึประเด็นหนึ่งที่สะกิดหัวใจ แล้วทำให้ครุ่นคิดมาจนกลับถึงบ้าน...
"เดี๋ยวนี้มีแนวคิดของเด็กรุ่นใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องกตัญญู หรือตอบแทน หรือทดแทนคุณพ่อแม่ เพราะพวกเค้าไม่ได้ขอมาเกิด... ทำให้เค้าเกิดมาเอง พ่อแม่ก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว"
ถ้ามองเพียงแค่..การทำให้เกิด... เด็กๆ ก็ไม่ผิดที่จะคิดเช่นนั้น แต่มันเป็นการมองที่เปลือกนอก มองเพียงผิวเผินจริงๆ หากเปิดใจ มองประเด็นนี้ให้กว้างและยาวขึ้น ก็จะเห็นแจ้งว่า เมื่อชีวิตได้อุบัติขึ้นในท้องแม่ ทั้งคนเป็นแม่และพ่อ (to be) ต้องทำอะไรบ้างในการเตรียมต้อนรับชีวิตน้อยๆ ที่กำลังจะมาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว คนเป็นแม่ต้องทนทุกข์กับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายสารพัดรูปแบบทั้งก่อนและหลังคลอด พ่อแม่เลี้ยงดู ทะนุถนอมด้วยความรัก ทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน๊อตเพื่อส่งให้เรียนจนมีความรู้ มีอาชีพเลี้ยงตนได้ และที่สำคัญพ่อแม่ (ส่วนใหญ่) "ไม่ต้องการ" สิ่งใดตอบแทนจากลูก เป็นการให้ที่ไม่ได้หวังการชดใช้ ให้ด้วยจิตที่บริสุทธิ์
มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานตรงที่เรามี "สามัญสำนึก" เรื่องความกตัญญูก็เป็น "สำนึก" ที่ควรจะเป็น "สามัญ" เพราะฉะนั้นถ้าความคิดจดจ่ออยู่แค่ ...การทำให้เกิด... แน่นอนว่าจะไม่สามารถมีสามัญสำนึกที่จะทดแทนคุณได้เลย
เคยอ่านบทความที่พระท่านเขียนไว้ทำนองว่า การที่พ่อแม่บางคนเรียกร้องให้ลูก "ตอบแทนบุญคุณ" นั้น มันเป็นปมปัญหาของพ่อแม่ แต่ไม่ใช่สาระสำคัญของลูก การที่เราไม่รู้สึกหรือสำนึกที่จะทดแทนคุณใครนั่นต่างหากที่เป็นปัญหาของเรา คือเราไม่มีความคิด ไม่มีสามัญสำนึกนั่นเอง คนเรามีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งคนดีและไม่ดี พ่อแม่ก็คือคนจึงมีได้ทั้งดีและไม่ดี แต่เราไม่ควรเอาสิ่งไม่ดีของท่านมาเป็น "ประเด็น" อ้างสำหรับการ "ไร้" สามัญสำนึก ซึ่งควรจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเป็น "มนุษย์" และแตกต่างจากการเป็น "เดรัจฉาน"
จากตรงนี้..ก็ส่งต่อไปประเด็นการสนทนาที่ว่าด้วยเรื่องการมองโลกเพียง "ด้านเดียว" ของมนุษย์เจนใหม่แห่งโลกที่มีแต่การเปลี่ยนแปลง ...
เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในวัยผู้ใหญ่..มาก 😅 ชื่นชมที่เด็กรุ่นใหม่มีความคิดเป็นของตัวเอง และกล้าแสดงออก กล้านำเสนอความคิดนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากในรุ่นก่อนๆ และเป็นสิ่งที่จำทำให้ประเทศชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ (ในขณะที่คนรุ่นก่อนๆ เป็นทำนองตามๆ กันไป ด้วยวัฒนธรรมที่ผู้ใหญ่ว่าไง เด็กก็ต้องว่างั้น...มันก็เลยไม่ค่อยจะเจริญ) แต่การมองโลกเพียงด้านเดียว และการนำเสนอความคิดในแบบก้าวร้าว มันไม่เท่ากับความล้ำ หรือทันสมัย เพราะทุกๆ สิ่งมีที่มา ที่ไป บางครั้งมันคงต้องมองที่บริบท วัฒนธรรม และแก่นสารในแบบองค์รวม โลกไม่ได้มีเพียงแค่สีดำกับสีขาว แต่มันเป็นสีเทา ซึ่งประสบการณ์เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญในการมองเห็นเช่นนี้ ... เมื่อประสบการณ์น้อยกว่าน้อย มีเพียงความคิดก้าวหน้า ที่เอาแต่จะก้าวไม่สนว่าก้าวแล้วจะตกเหวหรือไม่นั้น ก็ควรให้ความเคารพ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า respect (ไม่ใช่เคารพแบบต้องตามผู้ใหญ่ในวัฒนธรรมแบบเดิมๆ) กับความคิดและประสบการณ์ที่สะสมมายาวนานกว่า เห็นต่างได้ ไม่ผิด แต่ก็ต้องอยู่ร่วมกันได้ ไม่งั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการมีกีฬาสีในประเทศชาติหรอก
บทสนทนาแห่งปัญญาชนวัยเก๋า..มาก 😅 ก็ดำเนินมาได้แค่นี้ ... ก็ถึงเวลา "ลา" ของไหว้ แล้วก็ได้เวลา "กิน" ก็เลยจบประเด็นเครียดๆ เปลี่ยนมาคุยกันเรื่องจับฉ่ายและการแกะกุ้งแทน....
เจอกันปีหน้าค่ะ
ปล. ขอเอาภาพของพี่ๆ มาลง ใช้ความเป็นญาติแทน PDPA นะครัช 😇😇
#เช็งเม้ง 26 มีนาคม 2566
#Family #PorStory